
ข้อดีจากนักกีฬาชุดเดิม เทควันโด คว้าตั๋วแข่งขัน Tokyo 2020
หากจะพูดถึงหนึ่งในกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้คนไทยมายาวนานนับหลายปีที่ผ่านมา และรอคอยเหรียญทองเหรียญแรก คงจะนึกถึงเทควันโดเป็นกีฬาแรก นับตั้งแต่ประเทศไทยส่งการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2004 “Athens 2004” กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จนได้เหรียญรางวัลใน 4 ปีต่อมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังรอคอยวันที่นักกีฬาไทยจะคว้าเหรียญทองเหรียญแรก แม้ว่าจะได้มาทั้งเหรียญเงิน และเหรียญทองแดงตั้งแต่ “Beijing 2008” “London 2012” “Rio 2016” และหลายคนรอข่าวดีจากเจ้าภาพว่าเมื่อไหร่จะกลับมาจัด “Tokyo 2020” สักที ข้อดีจากนักกีฬาชุดเดิม ภายหลังจากการได้โควตา 1 ใบอย่างเป็นทางการจาก “พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง และได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันโดยอัตโนมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นคิวของการคว้าโควตาอีก 3 รุ่นในโซนเอเชีย
ซึ่งรอวันที่ไปชิงชัยหลังจากเลบานอนยกเลิกการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียเนื่องจากสถานการโควิด-19 โดยที่มีนักกีฬา 3 คนที่เป็นความหวังของทีมชาติไทย ได้แก่ “รามณรงค์ เสวกวิหารี” รุ่น 58 กิโลกรัมชาย “พรรณภา หาญสุจินต์” รุ่น 57 กิโลกรัมหญิง และ “หลักชัย ห้วยหงษ์ทอง” รุ่น 68 กิโลกรัมชาย ที่เป็นตัวแทนชิงชัยในการคัดเลือกโซนเอเชียครั้งนี้ หากมองในมุมของข้อดี ถือได้ว่าเป็นข้อดีที่สมเหตุสมผลในสถานการณ์นี้ การฝึกซ้อมจะได้มุ่งเป้าหมายไปที่ตัวนักกีฬาที่เป็นความหวังในการชิงโควตาเพื่อได้สิทธิ์ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ “Tokyo 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่นที่เลื่อนแข่งขันออกไป ให้สามารถไปถึงมหกรรมรอบสุดท้ายได้เต็มที่ ส่วนนักกีฬาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสามารถเรียกเข้าฝึกซ้อมตามความเหมาะสม ในส่วนของวิทยาศาสตร์การกีฬาจะต้องมีบทบาทในนักกีฬากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมทางด้านสมรรถภาพ โปรแกรมการฝึกซ้อม โภชนาการ การฟื้นฟูการบาดเจ็บ และติดตามสถานการณ์ภายใน และภายนอกอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
รวมทั้งติดตามสถานการณ์การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ทุกคนกำลังรอคอยเช่นเดียวกัน อีกทั้งการดูแลนักกีฬาทั่วถึงขึ้น สามารถหาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีกว่า จึงเป็นข้อดีสำหรับนักกีฬา ทีมโค้ช และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จะดูแลนักกีฬาได้เต็มที่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกข้อหนึ่งก็คือเป็นการประหยัดเวลา เพราะถ้ามองในความโชคดีตรงที่ได้คัดตัวก่อนช่วง Lockdown ทำให้ได้ทราบรายชื่อคนที่จะไปคัด เป็นตัวแทนทีมชาติไทยแน่นอน ซึ่งในความดูแลของ “โค้ชเช” หรือ “ชเว ยอง ซอก” หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ซึ่งนักกีฬาชุดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด มีการฝึกซ้อมด้วยโปรแกรมเข้มข้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด หากมีการคัดใหม่อีกครั้งเท่ากับว่านักกีฬาบางคนจะเสียโอกาส เสียเวลา เสียความตั้งใจที่จะพัฒนาฝีมือไปโดยปริยาย แต่การประหยัดเวลาในการคัดเลือกนักกีฬา ทำให้สามารถรอเวลาที่ส่งนักกีฬาคัดเลือก เมื่อได้เจ้าภาพที่แน่นอนแล้วในรอบ Asian Qualification อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
นับว่าเป็นเรื่องราวที่ดีที่นักกีฬาความหวังได้กลับมาซ้อม แต่ก็คงยึดหลักในเรื่อง Social Distancing อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการฝึกเทคนิคการแข่งขันแทนการเข้าคู่ซ้อมเตะตามปกติ เพื่อลดการสัมผัส ลดการติดต่อกันเอง แต่ยังมีช่วงที่ผ่อนปรนที่สามารถดึงนักกีฬามาซ้อมได้บ้างแล้ว แต่จะมุ่งไปที่การซ้อมในชุดความหวังเสียมากกว่า ซึ่งในประเภทต่อสู้ ทางสมาคมได้เรียกกลับมาเก็บตัวอีกครั้งพร้อมกับนักกีฬาประเภทพุมเซ่อีก 23 คนที่เหลือเพื่อฝึกซ้อม พัฒนาความฟิตให้อยู่ตัวตลอดเวลา พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงกำหนดการแข่งขันในแต่ละทัวร์นาเมนท์ต่างๆ ตามที่สหพันธ์เทควันโดโลก (World Taekwondo Federation) แจ้งกำหนดการที่อาจเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม อาจจะช้าจะเร็วก็ได้ ทั้งนี้ก็ยังดูสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศญี่ปุ่นและละแวกใกล้เคียงควบคู่ด้วยเช่นกัน